MKT Team

การใช้รถยนต์นั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่การใช้งานในเมือง ขับไปทำงาน ส่งลูกไปโรงเรียนเท่านั้น ในบางครั้งวันหยุดสุดสัปดาห์ หรืออาจเป็นธุระในด้านอื่น มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไกลด้วยรถยนต์ของท่านเอง ท่านก็ต้องมีการเตรียมตัวที่ดีเพื่อสวัสดิภาพของท่านเองเป็นหลัก และการถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัยทั้งไปและกลับ

การใช้รถทางไกลนั้นไม่ใช่จะเป็นการเตรียมเฉพาะรถเท่านั้น ผู้ขับขี่ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน มีความหมายที่ต้องควบคู่กันไป อาศัยซึ่งกันและกัน

clip_image0

ขั้นตอนในการเตรียมรถเพื่อเดินทางไกล

เตรียมรถยนต์

รถยนต์ควรได้รับการตรวจซ่อมเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่จะต้องออกเดินทางไกล ควรได้รับการตรวจเช็คก่อนเดินทางทุกครั้งเป็นดีที่สุด ถ้าได้รับการเปลี่ยนน้ำมันหล่อลื่นต่างๆ หรือเติมเข้าไปใหม่จะเป็นการดีอย่างยิ่ง เพราะสามารถช่วยป้องกันการสึกหรอได้เป็นอันมาก

และอีกทางหนึ่งคือช่วยประหยัดเงินในการที่จะต้องกลับมาซ่อมใหม่ในกรณีที่รถเกิดปัญหาขึ้น อีกประการหนึ่งก็คือเป็นการรับประกันความอุ่นใจจากผู้ที่ติดตามไปด้วย หรือแม้แต่ตัวท่านเองก็ตาม

สำหรับสิ่งที่ต้องตรวจตราและควรมีติดรถในการเดินทางไกลคือ

  • ยาง ยางเป็นส่วนสำคัญมากในการเดินทางไกล รถที่ขับด้วยความเร็วสูงและระยะทางไกลควรใช้ยางที่มีคุณภาพดี สูบลมได้ตามมาตรฐานที่กำหนด หมั่นตรวจสอบคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ และสิ่งที่ลืมไม่ได้คือยางอะไหล่ ต้องมีไว้พร้อมในสภาพที่สามารถใช้งานได้ทันที
  • เบรก ระบบเบรกต่างๆ ต้องมีความสมบูรณ์และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรได้รับการตรวจเช็คก่อนออกเดินทางเช่นกัน เช่น น้ำมันเบรก จากเบรก ปั้มลมต่างๆ และควรมีน้ำมันเบรกสำรองติดเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉินด้วย
  • กระจกส่องหลังและกระจกส่องข้าง ควรปรับสภาพให้สามารถใช้งานได้ คือมองเห็นรถยนต์ที่วิ่งตามมาได้อย่างชัดเจน ไม่เหลื่อมล้ำกัน
  • น้ำในหม้อน้ำ ควรเติมให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ และควรมีน้ำสำรองติดตัวไปด้วยเพื่อใช้กรณีฉุกเฉิน
  • น้ำกลั่นในหม้อแบตเตอรี่ ควรตรวจดูให้อยู่ในระดับที่กำหนดไว้ และมีน้ำกลั่นสำรองไปด้วย
  • น้ำมันเชื้อเพลิง ประมาณให้พอที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางได้ และควรมีการคาดคะเนล่วงหน้าว่าจะแวะเติมน้ำมันที่จุดไหนบ้าง
  • น้ำมันเครื่อง ต้องตรวจดูว่ามีอยู่ในระดับหรือไม่ ต้องเติมให้พอดี อย่าเติมให้เกิน เพราะจะทำให้น้ำมันเครื่องขึ้นหัวเทียน ทำให้หัวเทียนบอดได้ และควรจะมีสำรองไว้ด้วย
  • เครื่องมือประจำรถและอะไหล่ต่างๆ ต้องมีติดรถไว้เสมอ แม้ว่าจะไม่เดินทางไกลก็ตาม เพราะยามฉุกเฉินอาจใช้ได้ทันท่วงที
  • เครื่องมือแพทย์ เอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เมื่อแก้ไขรถยนต์อาจเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อยได้

ข้อควรทราบ

ควรแจ้งหมายกำหนดการให้ผู้ที่อยู่ทางด้านต้นทางและปลายทางทราบเมื่อมีการเดินทางไกล เพื่อจะได้ตรวจเช็คเมื่อเห็นว่าผิดปรกติหรือล่าช้ากว่ากำหนด เมื่อไปถึงแล้วหากเป็นไปได้ควรแจ้งให้คนทางบ้านทราบเพื่อความสบายใจ

ข้อเตือนใจ

  • อย่าไปในเส้นทางที่ท่านไม่คุ้นเคยตามลำพัง หรือไปกับคนแปลกหน้า อย่าไว้ใจคนอื่น
  • อย่าหยุดรถในสถานที่เปลี่ยวโดยไม่มีความจำเป็น
  • คนร้ายอาจแกล้งขับรถชนท้ายของท่านในสถานทีเปลี่ยว เมื่อจอดรถลงมาเจรจาค่าเสียหายอาจใช้อาวุธปล้น ฉะนั้นควรพิจารณาถึงความปลอดภัยในการหยุดรถ ควรเดินทางต่อไปอีกเล็กน้อยจนกว่าจะพบตำรวจ หรือแหล่งชุมชนจึงหยุดรถสำรวจความเสียหาย (หากไม่รุนแรงนัก)
  • สอบถามเส้นทางจากชาวบ้านในกรณีที่ไปยังเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย จะได้ไม่เสียเวลาย้อนรถกลับ

การขับรถเมื่อเดินทางไกล

  • การแซงรถ บางครั้งผู้ขับขี่อาจขับรถตามหลังคันอื่นเป็นระยะทางไกลๆ เพราะว่าอัตราความเร็วที่ใช้อยู่นั้นใกล้เคียงกับรถคันอื่นๆ ที่อยู่ข้างหน้า บางครั้งมีความจำเป็นต้องแซงหน้าขึ้นไป จึงควรจะแซงให้ถูกวิธีเพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น ตามหลักในการแซงแล้ว ก่อนจะแซงรถต้องดูให้แน่ใจว่าถนนด้านข้างว่างพอที่จะแซงหรือยัง ถ้าจะต้องการความปลอดภัยในเวลาแซงก็คือ ต้องแซงรถทางขวาเสมอ และห้ามแซงในที่คับขัน นั่นก็คือ ไม่แซงรถตรงทางแยก ไม่ควรแซงเมื่อเวลาขับรถขึ้นเนินเขาหรือลงเขา ไม่ควรแซงบนทางโค้ง และไม่ควรแซงบนสะพาน
  • การขับรถตามหลังรถคันอื่น อุบัติเหตุจำนวนมากเกิดจากการขับรถชนท้าย หรือประสานงาคันอื่น สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ ผู้ขับรถคันหลังขับรถชิดคันหน้ามากเกินไป ในหลักการขับรถแล้ว ควรขับรถตามหลังโดยเว้นระยะห่าง 1 ช่วงคันรถ ทุกๆ ความเร็ว 10 กม./ชม. หรืออาจจะเว้นเป็น 2 เท่าก็ได้เพื่อความปลอดภัย

สำหรับอัตราการใช้ความเร็วขึ้นอยู่กับ

  1. ปริมาณการจราจรในขณะนั้น
  2. สภาพถนนและดินฟ้าอากาศ
  3. สภาพของรถ
  4. สภาพอารมณ์และร่างกายของผู้ขับขี่
  5. ระยะเวลาในการขับรถ
  6. ความเร็วของรถคันอื่นๆ ในขณะนั้น
  • การขับรถตามกฏจราจร กฏจราจรในบ้านเรามีอยู่มากมายที่บัญญัติขึ้นมาก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และสังคมโดยรวม ผู้ขับขี่ส่วนมากจะจำกฏจราจรได้เฉพาะตอนสอบใบขับขี่เท่านั้น หลังจากนั้นก็จะลืมกฏจราจรต่างๆ แทบหมดสิ้นและไม่ให้ความสนใจต่อไปอีก อย่างน้อยการขับรถทางไกลควรใช้กฏจราจรให้เคร่งครัด ตลอดจนการให้สัญญาณต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณมือ สัญญาณไฟ และต้องแน่ใจว่าใช้ถูกต้อง และรถคันหลังหรือหน้าสามารถเห็นสัญญาณได้อย่างชัดเจน
  • การเปลี่ยนช่องเดินรถ โดยทั่วไปผู้ขับขี่ควรขับรถอยู่ในช่องเดินรถที่มีเครื่องหมายแบ่งไว้ให้ แต่ถ้าไม่มีเส้นแบ่งช่องเดินรถเอาไว้ก็ควรจะขับรถในทางของตน ผู้ขับขี่ควรจะรู้สภาพการจราจรที่กำลังจะเกิดขึ้น และสังเกตรถคันหลังที่ตามมาด้วย ถ้าผู้ขับขี่พร้อมที่จะแซงต้องให้สัญญาล่วงหน้าก่อนเมื่อรถคันอื่นทราบความประสงค์จึงเปลี่ยนเข้าในช่องเดินรถที่ต้องการ
  • การขับรถที่ป้องกันตนเองจากอันตราย ผู้ขับขี่รถยนต์นั้นไม่ใช่แต่จะสามารถควบคุมตัวเองได้เท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้ที่ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา และมองไปด้านหน้า ด้านหลัง (มองกระจกหลัง) และด้านข้างตลอดเวลา
  • คนเดินเท้าในทางรถวิ่งหรือไฮเวย์บางสายไม่มีทางเท้า ฉะนั้นเมื่อเห็นคนเดินเท้าจึงควรใช้แตรและลดความเร็ว เพื่อให้คนเดินอยู่ข้างทางรู้ตัว โดยมารยาทแล้วนักขับขี่รถที่ดีไม่ควรแซงรถตรงจุดที่มีคนเดินเท้าอยู่ใกล้ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนกลางคืน และวันที่มีวนตกหนัก ควระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะผู้ขับขี่อาจมองไม่เป็นคนเดินเท้าได้
  • แผนที่ ถ้าผู้ขับขี่ต้องขับรถทางไกลในทางที่ยังไม่คุ้นเคย ควรจะได้รับการศึกษาแผนที่เพื่อหาทางที่จะไปได้อย่างมีจุดหมาย ไม่หลงทาง เพระแผนที่จะช่วยให้ทราบเส้นทางและลักษณะของถนน และระยะทาง ต้องคำนึงถึงเสมอว่าอย่าดูแผนที่ขณะกำลังขับรถอยู่ ควรดูก่อนเดินทาง หรือไม่ก็ให้คนอื่นที่นั่งข้างเคียงดูให้แทน

ที่มา : นิตยสารตลาดรถ Extreme ฉบับวันที่ 17 – 30 เมษายน พ.ศ. 2553

keep-car-running

Tags: , | edit post
0 Responses

Post a Comment