MKT Team
การขับรถบนถนนเปียก หรือขับรถลุยแอ่งน้ำตื้นๆ แล้วเกิดอาการลื่นไถล หรือดึงแถเอียงไปข้าง รวมถึงอาการหนักถึงขั้นหมุน คนส่วนใหญ่ทราบดีว่า เมื่อถนนเปียกจะลื่นกว่าถนนแห้ง แต่มักไม่ได้มองลึกถึงต้นเหตุที่แท้จริง คือ อาการเหินน้ำ (HYDROPLAINING)

++หน้าสัมผัสของยาง ต้องกดแนบพื้น จึงจะยึดเกาะ++
เป็นหลักการพื้นฐานง่ายๆ ว่า ยางรถจะเกาะถนนได้ด้วยหน้าสัมผัสที่กดแนบกัน และไม่ได้แค่แนบธรรมดา แต่เป็นเหมือนเฟืองยางนิ่มถี่ๆ ที่ถูกแรงกดแต่ละล้อหลายร้อยกิโลกรัม ให้แทรกตัวลงบนพื้นถนนที่เป็นเหมือนเฟืองแข็งไร้ระเบียบ ไม่ได้เรียบแบบกระจก ไม่ได้แนบกันเหมือนกับเอาฝ่ามือแนบกับกระจก ลองนึกภาพตามว่ายางกับถนน จะคล้ายกับคนใส่รองเท้าแตะฟองน้ำเดินอยู่บนผิวยางมะตอยหรือคอนกรีตผิวหยาบ หน้าสัมผัสของหน้ายางที่ถูกกดลงบนผิวถนน ทำให้เกิดแรงเสียดทานและนั่นคือ การเกาะถนน ยิ่งมีหน้าสัมผัสมากยิ่งดี แต่ก็ต้องเหมาะสมกับประเภทของรถและลักษณะการใช้งาน ไม่ใช่รถคันเล็กใช้งานทั่วไป แต่ใส่ยางหน้ากว้างมากๆ

การ ใส่ยางหน้าสัมผัสกว้าง แม้จะมีพื้นที่สัมผัสกับพื้นโดยรวมใกล้เคียงกับยางหน้าแคบ เพราะน้ำหนักกดลงในแต่ละล้อเท่าเดิม ยางที่กลวงและมีแรงดันลมภายใน จะพยายามทำให้ยางมีหน้าสัมผัสโดยรวมใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะใส่ยางหน้ากว้างหรือแคบ หากแรงดันลมยางและน้ำหนักที่กดลงเท่าเดิมแต่ยางหน้ากว้าง จะมีการเฉลี่ยแรงกดในหน้าสัมผัสแต่ละตารางมิลลิเมตรได้ใกล้เคียงกันกว่าหน้า แคบที่มีแรงกดต่อหน่วยพื้นที่มากๆ เฉพาะในช่วงกลางของหน้าสัมผัส ยางหน้ากว้างจะมีการเฉลี่ยแรงกดในแต่ละหน่วยพื้นที่ได้ดี ทำให้เกาะถนนดีเมื่อรถแล่น เพราะเฟืองยางนิ่มๆ (ที่มองไม่เห็น) จะหลุดออกจากหน้ายางได้ยากกว่าการ เกาะถนน เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อยางมีหน้าสัมผัสกับพื้น เฟืองยางถี่ๆ ไม่ถูกปั่นหรือไถลจนหลุด ส่วนร่องยางหรือดอกยาง มีไว้เพื่อรีดน้ำหรือให้น้ำแทรกตัวเข้าไปอยู่ได้ชั่วคราว แล้วไล่ออกไปได้บางส่วน การที่บอกว่ายางไร้ดอกหรือยางหัวโล้นจะไม่เกาะถนน ต้องเน้นด้วยว่าเป็นเช่นนั้นบนถนนเปียก ส่วนบนถนนเรียบแห้งจะเกาะถนนดีกว่ายางมีดอก อย่างเช่นรถแข่งทางเรียบใช้กันและเรียกยางไร้ดอกว่า ยางสลิก

++ อาการเหินน้ำ++

ชื่อไม่ค่อยคุ้น เรียกไม่ง่ายนัก แต่ถ้านึกภาพตามจะเข้าใจได้ง่าย คนส่วนใหญ่ทราบว่า เมื่อพื้นเปียกจะลื่น แต่ไม่ค่อยเข้าใจถึงการอาการเหินน้ำซึ่งเป็นต้นเหตุของการลื่น และถึงรถจะไม่มีอาการลื่นอย่างชัดเจน ขณะที่ยางหมุนผ่านพื้นเปียก ก็เกิดอาการเหินน้ำขึ้นไม่มากก็น้อย เพราะหน้าสัมผัสย่อมไม่เต็มร้อยแบบพื้นแห้ง การลื่นของคนเดินบนพื้น กับการลื่นของยางรถขณะรถแล่นไป คล้ายกันแค่บางส่วน แต่จริงๆ แล้วต่างกัน คล้ายกันตรงที่จะเกิดการยึดเกาะได้ก็ต่อเมื่อมีหน้าสัมผัสกับพื้นโดยไม่มี น้ำคั่น แตกต่างกันที่รองเท้าเป็นการกดลงจากด้านบน แต่ยางรถเป็นการหมุนไล่ไปเรื่อยๆ

อาการลื่นเมื่อพื้นเปียก เกิดขึ้นจากการมีชั้นหรือฟิล์มของน้ำอยู่บนผิวของพื้นแล้วหน้าสัมผัสที่กดลง ไป ไม่สามารถกดหรือกระแทกไล่น้ำออกจากหน้าสัมผัสได้ทั้งหมด กลายเป็นมีฟิล์มน้ำแทรกอยู่ระหว่างกลาง ยิ่งมีน้ำแทรกอยู่ระหว่างกันเป็นพื้นที่มากเท่าไร ก็ยิ่งเกิดอาการลื่นมาก ยางที่หมุนไปบนพื้นเปียก ต้องพยายามกดไล่น้ำออกไปทั้งสองข้าง และน้ำบางส่วนต้องแทรกเข้าไปในร่องของดอกยางให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เหลือหน้าสัมผัสใกล้เคียงตอนถนนแห้งมากที่สุด

อาการ เหินน้ำ คือ การที่ยางไม่สามารถไล่น้ำออกจากหน้าสัมผัสได้มากพอหรือทันท่วงที กลายเป็นอาการยางหมุนอยู่บนฟิล์มน้ำ ไม่ได้หมุนโดยการสัมผัสกับพื้น หมุนแต่หมุนลอยอยู่บนชั้นของน้ำ โดยอาการเหินน้ำไม่จำเป็นล้อเหินเต็มหน้าจนลื่นไถล แต่เหินแค่บางส่วนของหน้ายางก็ถือว่าเกิดอาการเหินน้ำแล้ว เพียงแต่ผู้ขับจะคิดว่าเมื่อไรที่ลื่นถึงจะเป็นการเหินน้ำ

หากยังงง ให้นึกภาพเปรียบเปรยกับการราดน้ำไว้บนพื้นหรือโต๊ะ เอาฝ่ามือตบลงบนน้ำ จะรู้สึกได้ว่า มือจะไม่แนบลงไปสนิทเหมือนตอนแห้งๆ ถ้าแนบนิ้วมือให้ชิดกันก็คล้ายกับยางไม่มีดอก การตบลงเพื่อไล่น้ำออกจากหน้าสัมผัส จะแย่กว่าการกางนิ้วมือออกจากกันเล็กน้อย ร่องระหว่างฝ่ามือที่ให้น้ำแทรกเข้าไปได้ก็คล้ายกับร่องดอกยางนั่นเอง

++อาการที่ผู้ขับรู้สึก++

ถ้าเกิดอาการเหินน้ำมาก ก็จะรู้สึกว่ารถลื่น พวงมาลัยไม่สามารถควบคุมทิศทางได้เต็มที่ หรือแย่ถึงขั้นลื่นไถล รวมถึงรถหมุนคว้างเลยก็มี ในความเป็นจริง ส่วนใหญ่เป็นอาการเหินน้ำ คือ มีชั้นของน้ำอยู่เหนือพื้น หน้าสัมผัสของยางกดลงบนพื้นได้น้อยกว่าสภาพการขับรถในขณะนั้น หน้ายางบางส่วนหรือหลายส่วนหมุนอยู่บนชั้นน้ำ ไม่ใช่บนพื้น ไม่มียางรถรุ่นใดยี่ห้อใดรีดน้ำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้ผลิตยางรถล้วนพยายามลดอาการเหินน้ำของยางให้น้อยลงในยางรุ่นใหม่ทุกรุ่น ที่ผลิตออกมา แต่ก็ไม่เคยทำให้ปลอดอาการเหินน้ำเลย ไม่ว่าจะเป็นยางรุ่นใหม่หรือโฆษณาว่ารีดน้ำดีเพียงไร ก็อย่าฝันว่าจะปลอดการเหินน้ำ ถ้าพื้นเปียกและรถแล่นอยู่ ยังไงยางก็จะรีดน้ำได้ไม่หมดสนิท ไม่ลื่นมากก็น้อย ไม่เหินน้ำมากก็น้อย ยิ่งผิวน้ำหนา ยิ่งขับรถเร็ว ก็ทำให้ยางหมุนผ่านไปอย่างรวดเร็ว การกดเพื่อไล่น้ำออกจากหน้าสัมผัสก็จะแย่ลงกว่าน้ำผิวบางและรถแล่นช้า ทำให้ยางหมุนผ่านไปช้าๆ

++สรุปง่ายๆ ว่า ยิ่งน้ำหนา ยิ่งขับรถเร็ว ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดอาการเหินน้ำมากขึ้น++

ผู้ขับรถจึงจำเป็นต้องประเมินสภาพของน้ำบนพื้นผิว กับประสิทธิภาพการรีดน้ำของยางรุ่นที่ใช้อยู่ว่า สภาพพื้นเปียกในขณะนั้นควรใช้ความเร็วเท่าไรจึงจะปลอดภัย สภาพพื้นเปียกที่น่ากลัวที่สุดคือ การเกิดอาการเหินน้ำในล้อเดียว หรือเหินน้ำไม่เท่ากันในแต่ละล้อ เจอแอ่งน้ำตื้นๆ โดยไม่คาดคิด และไม่ได้เจอทุกล้อ แต่เจอแค่ล้อข้างเดียว เช่น เส้นทางโล่งตรง ผู้ขับจึงชะล่าใจใช้ความเร็วสูง ขับไปเรื่อยๆ ก็ไม่น่ากลัวอะไร เมื่อควบคุมได้ดีก็ชะล่าใจคงความเร็วนั้นไว้หรืออาจเร่งความเร็วขึ้นเล็ก น้อย หาก บังเอิญเจอแอ่งน้ำตื้นๆ ในบางล้อ ก็จะเกิดการลื่นไม่เท่ากันในแต่ละล้อ เช่น ล้อหน้าซ้ายลื่น ล้อหน้าขวาเกาะกว่า รถก็ปัดเป๋ พวงมาลัยดึงหรืออาจถึงขั้นรถหมุนเลยก็เป็นได้ อาการลื่นของยางบนถนนเปียก ต้องทำความเข้าใจกับอาการเหินน้ำใช้ความเร็วให้เหมาะกับสภาพถนน อย่าชะล่าใจ และระวังจะเจอแอ่งน้ำตื้นหรือผิวถนนมีน้ำหนาไม่เท่ากันโดยบังเอิญ ก็จะเกิดอาการดึงจะรถเสียการทรงตัวได้
0 Responses

Post a Comment